เสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม
ประวัติ ความเป็นมาของ "วันเด็ก"
จากคำกล่าวที่ว่า... อนาคตของประเทศชาติจะเป็นอย่างไรต่อไป ส่วนหนึ่งต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพชีวิตของเด็กในประเทศนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องให้ การพิทักษ์รักษาคุ้มครองทางด้านกฎหมาย ตลอดจนให้ความสำคัญแก่เด็ก ๆ เพราะถือว่า เด็ก คือมนุษย์ที่ยังอ่อนอยู่ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมาย ของคำว่า"เด็ก" ไว้ดังนี้
เด็ก หมายถึง คนที่มีอายุยังน้อย ยังเล็ก
เด็กชาย คือ คำนำเรียกเด็กผู้ชายที่มีอายุไม่เกิน ๑๔ ปีบริบูรณ์ เด็กหญิง คือ คำนำเรียกเด็กผู้หญิงที่มีอายุไม่เกิน ๑๔ ปีบริบูรณ์
ความเป็นมาของ "วันเด็กสากล"
เมื่อปีพุทธศักราช 2498 ได้เกิดปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็กขึ้น โดยองค์การสหประชาชาติทำให้ทั่วโลกเกิดความตื่นตัว และเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะให้ความสำคัญแก่เด็ก ๆ ของตนมากขึ้น การขานรับในการนี้จากประเทศต่าง ๆ เป็นไปอย่างกว้างขวาง ในปีเดียวกันนั้นเอง ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกไม่น้อยกว่า 40 ประเทศต่างก็จัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติของประเทศตนขึ้น โดยกำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ การจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติในแต่ละประเทศขณะนั้น มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ โดยยึดหลักการให้ความสำคัญแก่เด็กเป็นวัตถุประสงค์หลัก โดยเปิดสถานที่ราชการที่สำคัญเช่น พิพิธภัณฑ์ รัฐสภา เป็นต้น ให้เด็ก ๆได้เข้าชมและศึกษา บางแห่งจัดการแสดงมหรสพ มีการแจกอาหาร แข่งขันเกม แจกของขวัญ ฯลฯ ต่อมางานนี้ได้รับความสำคัญทั่วโลกจึงได้จัดกันแพร่หลายมาถึงปัจจุบัน
การจัดงานวันเด็กในประเทศไทย ปีพุทธศักราช 2498 อันเป็นปีที่ทั่วโลกเริ่มจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติกันขึ้น ตามความเห็นคล้อยตามกับองค์การสหประชาชาติที่นำปัญหาเรื่องเด็กมาร่างเป็นปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของเด็กขึ้นมา
ประเทศไทยได้รับข้อเสนอของนาย วี เอ็ม กุลกานี ผู้แทนองค์กรสมาพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศ ผ่านมาทางกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทยว่า ประเทศไทยควรจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของเด็กให้มากขึ้น ดังที่นานาประเทศกำลังทำอยู่
ขณะนั้น สภาวัฒนธรรมแห่งชาติยังมิได้ถูกยุบเลิกไป คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณา ในที่สุดที่ประชุมได้เห็นชอบนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2498 ได้มีมติคณะรัฐมนตรีรับหลักการ ให้จัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการรับไปดำเนินการ ส่วนของค่าใช้จ่ายในการจัดงานั้น ได้อนุมัติเงินจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาลมาดำเนินการ
ดังนั้น ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2498 ประเทศไทย จึงมีงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก จากนั้นเป็นต้นมา ทางราชการได้กำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันเด็กแห่งชาติสำหรับประเทศไทย และจัดติดต่อกันมาจนถึงปี พ.ศ.2506 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติในปีนั้น มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรที่จะเสนอเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสียใหม่ เพื่อความเหมาะสมด้วยเหตุผลว่า ในเดือนตุลาคมสำหรับประเทศไทยเราเป็นเดือนที่ยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก เด็ก ๆ ไม่สะดวกในการมาร่วมงาน ประการต่อไปก็คือ วันจันทร์เป็นวันปฏิบัติงานของผู้ปกครอง จึงไม่สามารถพาเด็กของตนไปร่วมงานได้ ตลอดจนการจราจรก็ติดขัด จึงเห็นว่าควรจะเปลี่ยนไปเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมเสียทุกสิ่งทุกอย่างได้สะดวกสบายขึ้น และมีความเหมาะสมมากกว่า
จากข้อเสนอดังกล่าว คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการจัดงานวัดเด็กแห่งชาติเสนอ ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2507 จึงประกาศเปลี่ยนงานฉลองวันเด็กแห่งชาติจากวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม มาเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นมา ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ปี พ.ศ.2507 ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติด้วยการประกาศเปลี่ยนได้เลยวันมาแล้ว
งานวันเด็กแห่งชาติได้เริ่มจัดขึ้นมาใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ.2508 และจัดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลาได้ 38 ปีแล้ว (งดจัดในปี พ.ศ.2507 หนึ่งปี)
วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ
1. เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก สนใจในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก และช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กเป็นพิเศษ
2. เพื่อให้เด็กและและเยาวชนยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
3. เพื่อให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตน และอยู่ในระเบียบวินัยอันดี
4. เพื่อเผยแพร่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของเด็ก
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็กและเยาวชน ขององค์การสหประชาชาติ
ข้อ 1. เด็กและเยาวชน พึงได้รับสิทธิเท่าเทียมกันโดยปราศจากการแบ่งแยกหรือกีดกัน ไม่ว่าโดยวิธีใด ๆในเรื่อง เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง เผ่าพันธุ์แห่งชาติ หรือ สังคมทรัพย์สิน กำเนิดหรือสถานะอื่น ๆ ไม่ว่าจะของเด็กหรือของครอบครัวก็ตาม
ข้อ 2. เด็กและเยาวชน พึงได้รับการพิทักษ์คุ้มครองเป็นพิเศษ อันจะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาทั้งทางกาย ทางสมอง และจิตใจเพื่อให้ร่วมอยู่ในสังคมได้อย่างปกติชน
ข้อ 3. เด็กและเยาวชน มีสิทธิที่จะได้มีชื่อและมีสัญชาติแต่กำเนิด ข้อ 4. เด็กและเยาวชน พึงได้รับความมั่นคงทางสังคมและเติบโตอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นทั้งแม่และเด็ก ควรได้รับการดูแลและคุ้มครองเป็นพิเศษ ทั้งเมื่ออยู่ในครรภ์และภายหลังเมื่อคลอดแล้ว โดยได้รับสิทธิในเรื่องที่อยู่อาศัย ได้รับอาหาร ได้รับการดูแลทางแพทย์ และโดยเฉพาะเด็ก ๆ ให้ได้รับการเล่นรื่นเริงเพลิดเพลินด้วย
ข้อ 5. เด็กและเยาวชน ที่พิการทั้งทางร่างกาย สมอง และจิตใจ มีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพิเศษ หมายถึง การดูแลรักษาและการศึกษาที่เหมาะสมกับสภาวะของเด็กโดยเฉพาะ
ข้อ 6. เด็กและเยาวชน พึงได้รับความรักและความเข้าใจ อันจะช่วยพัฒนาบุคลิกของตน โดยเติบโตอยู่ในความรับผิดชอบของบิดามารดาของเด็กเอง และในทุกกรณี เด็กจะต้องอยู่ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่น ปลอดภัย และไม่พลัดพรากจากพ่อแม่ ในกรณีที่เด็กไม่มีครอบครัวหรือมาจากครอบครัวที่ยากจนและมีลูกมากก็จะได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ จากรัฐหรือองค์การต่าง ๆ
ข้อ 7. เด็กและเยาวชน มีสิทธิที่จะได้รับการศึกษา ซึ่งครูควรจะจัดให้เปล่าอย่างน้อยในชั้นประถมศึกษา เพื่อเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมโดยทั่ว ๆ ไป และให้เด็กเติบโตเป็นสมาชิกผู้ยังประโยชน์ต่อสังคมคนหนึ่ง การศึกษานี้คลุมไปถึงการแนะแนวทางชีวิต ซึ่งมีบิดามารดาเป็นผู้รับผิดชอบก่อนบุคคลอื่น ๆ เด็กจะต้องมีโอกาสได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน จากการเล่นและรื่นเริงพร้อมกันไปด้วย
ข้อ 8. เด็กและเยาวชน จะเป็นบุคคลแรกที่ได้รับการคุ้มครองและสงเคราะห์ในทุกกรณี
ข้อ 9. เด็กและเยาวชน พึงได้รับการปกป้องให้พ้นจากการถูกทอดทิ้ง จากความโหดร้ายทารุณ และการถูกข่มเหง รังแกทุกชนิด เด็กจะต้องไม่กลายเป็นสินค้า ไม่ว่าในรูปใด จะต้องไม่มีการรับเด็กเข้าทำงานก่อนวัยอันสมควร ไม่มีการกระทำใด ๆ อันจะมีชักจูงหรืออนุญาตเด็กให้จำต้องรับจ้างทำงาน ซึ่งอาจจะเป็นผลร้ายต่อสุขภาพของเด็ก หรือเป็นเหตุให้การพัฒนาทางกายทางสมองและทางจิตใจของเด็กต้องเสื่อมลง
ข้อ 10. เด็กและเยาวชน พึงได้รับการคุ้มครองให้พ้นจากการกระทำที่แสดงถึงการกีดกัน แบ่งแยก ไม่ว่าทางเชื้อชาติ ศาสนาหรือรูปใด ๆ เด็กจะต้องได้รับการเลี้ยงดูให้เติบโตขึ้นมา " ในภาวะแห่งจิตที่เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ และมีการหย่อนหนักหย่อนเบามิตรภาพระหว่างชนชาติต่าง ๆ สันติภาพ และภาพสากล และด้วยการสำนึกเต็มที่ว่าพละกำลังและความสารถพิเศษในตัวเขา ควรจะอุทิศเพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน"
มาดูพฤติกรรมของเด็กๆกันดีกว่าค่ะ
คำขวัญวันเด็ก
คำขวัญวันเด็ก เป็น คำขวัญที่นายกรัฐมนตรีมอบให้เด็กไทย เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติของทุกปี โดยคำขวัญวันเด็กมีขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2499 ในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตั้งแต่ พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ให้คุณค่าความสำคัญของเด็ก จึงมอบคำขวัญให้เป็นข้อคติเตือนใจสำหรับเด็กปีละ 1 คำขวัญ (ก่อนถึงวันเด็กแห่งชาติ) นายกรัฐมนตรีสมัยต่อมา จึงได้ถือเป็นธรรมเนียมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน