วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

เทศกาลตรุษจีน




         เทศกาลตรุษจีนที่ทั้งคนไทยเชื้อสายจีน และที่ไม่ใช่คนไทยเชื้อสายจีนคุ้นเคยกันนั้น ใช่จะเตรียมการด้วยระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน หากแต่เตรียมงานกันแทบจะเรียกได้ว่าเป็นเดือน

          
1 เดือนก่อนถึงตรุษจีน ผู้คนจะเริ่มซื้อหาของขวัญไว้ให้สมาชิกในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง หาซื้อสิ่งต่างๆ มาประดับบ้านเรือน เริ่มทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ เพราะมีความเชื่อว่าเป็นการกวาดสิ่งชั่วร้ายออกไป ทาประตูและหน้าต่างของบ้านด้วยสีแดงอันเป็นสีมงคล เสร็จแล้วก็ประดับประดาบ้านด้วยกระดาษสีแดงเขียนตัวอักษรจีนสีทอง มีความหมายไปในทางที่ดี เช่น อยู่ดีมีสุข ร่ำรวย อายุยืน เป็นต้น

          เรื่องของเสื้อผ้าก็เช่นกัน ชาวจีนนิยมใส่เสื้อผ้าสีแดงในช่วงเทศกาลตรุษจีน เพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้ตนพบแต่ความโชคดี และเป็นการขับไล่ปีศาจร้ายออกไป ส่วนการสวมใส่เสื้อผ้าสีดำหรือขาวเป็นสิ่งต้องห้าม เนื่องจากถือว่าเป็นสีของการไว้ทุกข์
          ช่วงเทศกาลตรุษจีน ต้องไม่โกรธ ริษยา หรือไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต
          ขาดไม่ได้สำหรับเทศกาลนี้ที่เด็กๆ ตั้งหน้าตั้งตารอคอย คือ "อั้งเปา" หมายถึง ซองแดง ไว้ให้ในงานมงคลต่างๆ ซึ่งหมายรวมถึงเทศกาลตรุษจีน โดยผู้ใหญ่จะนำเงินใส่ในซองแดง แล้วมอบให้กับลูกหลานที่อยู่ในวัยเด็ก วัยรุ่น หรือมอบให้ลูกหลานที่โตเป็นผู้ใหญ่ที่ยังไม่แต่งงาน

          ถึงวันขึ้นปีใหม่ หรือวันตรุษจีน สมาชิกในครอบครัวจะกล่าวสวัสดีปีใหม่ และอวยพรให้กันและกัน แล้วต่อด้วยการไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง

          ถึงช่วงเย็นย่ำ คนในครอบครัวจะรับประทานอาหารร่วมกัน ซึ่งเป็นอาหารที่มีนัยของความเป็นมงคลแฝงอยู่ เช่น กุ้ง หมายถึงชีวิตที่รุ่งเรือง มีความสุข เป๋าฮื้อแห้ง หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี สลัดปลาสดจะนำความโชคดีมาให้ จี้ไช่ (ผมเทวดา) ซึ่งเป็นสาหร่ายที่มีลักษณะคล้ายผม จะนำความร่ำรวยมาสู่ ขนมต้ม (Jiaozi) หมายถึงบรรพชนอวยพรลูกหลาน ฯลฯ

          
ปีนี้เยาวราชยังคงเป็นแหล่งรวมสิ่งมงคลต่างๆ ในเทศกาลตรุษจีนเช่นเคย ไม่ว่าจะเป็นกระดาษสีแดงเขียนตัวอักษรมงคล เครื่องแต่งกายสีแดง สิ่งของประดับตกแต่งบ้าน รวมไปถึงอาหารและผลไม้มงคลที่มีให้เลือกมากมายค่ะ. . .

วันกองทัพไทย


ภาพ "สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยุทธหัตถี"
จาก  http://catadmin.cattelecom.com/km/blog/choosiri/wp-content/uploads/2006/10/image4.gif
 
 ความเป็นมาของวันกองทัพไทย
ในสมัยอดีตประเทศไทยเป็นประเทศที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเป็นอย่างมากเนื่องจาก พระมหากษัตริย์ไทยในอดีตทรงเป็นผู้นำทัพเพื่อต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติไทยมานานหลายสมัย จนกระทั่งถึงสมัยสมเด็จพระเนรศวรมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่เป็นศูนย์รวมจิตใจ กำลังใจและความภาคภูมิใจในการต่อสู้เพื่อเอกราชเพื่อประเทศไทยโดยเฉพาะเหตุการณ์ในครั้งที่พระองค์ทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะแก่พระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี เมื่อวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง ณ ตำบลหนองสาหร่าย จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งถือว่าเป็นชัยชนะที่สำคัญของไทยเลยก็ว่าได้เพราะพระองค์ทรงกล้าหาญ มีไหวพริบในการทำศึกจนเป็นที่กล่าวขานแก่คนในชาติและประเทศที่อยู่ใกล้เคียง

เมื่อครั้งที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ.2523 ได้มีมติร่วมกับคณะรัฐมนตรีกำหนดให้วันที่ 25 มกราคม ของทุกปีโดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2524 เป็นวัน กองทัพไทยซึ่งตรงกับวันกระทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเศวรมหาราช เพื่อเป็นวันที่รำลึกถึงความภาคภูมิใจในความกล้าหาญของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตที่ทรงเสียสละชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อกอบกู้เอกราชชาติไทย

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 คณะรัฐมนตรีได้ลงอนุมัติให้วันที่ 18 มกราคม ของทุกปีเป็นวันยุทธหัตถี และเป็นวันรัฐพิธีแทนวันที่ 25 มกราคม ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับหลักฐานที่ราชบัณฑิตยสถานและคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติเสนอ ดังนั้นคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2549 เห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอโดยให้เปลี่ยนแปลงกำหนดวันกองทัพไทยจากวันที่ 25 มกราคม ของทุกปีเป็นวันที่ 18 มกราคม ของทุกปีและอนุมัติให้เป็นวันหยุดราชการของกระทรวงกลาโหมเริ่มใช้ ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2550 เป็นต้นไป

ปัจจุบัน (รัชการที่ ๘ – ๙) กองทัพไทยได้พัฒนาเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก ประกอบด้วยกำลังครบทั้งสามเหล่า คือ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ การพัฒนาด้านต่างๆ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนมีศักยภาพสูง และมีบทบาทเป็นที่ยอมรับในประชาคมโลก

ภาพ "ทหารบก"  จาก http://web.schq.mi.th/~j5/heart/031049.htm

  ภาพ  "ทหารเรือ"  จาก http://ads.dailynews.co.th/news/images/2006/variety/11/16/107562_41412.jpg


ภาพ "ทหารอากาศ"  จาก  http://www.daoc.rtaf.mi.th/default.php?table=&&actpage=7#act
บทบาทกองทัพไทย
การป้องกันประเทศ
กองทัพไทยมีหน้าที่สำคัญคือการป้องกันประเทศทั้งในยามสงบและยามที่เกิดภัย โดยจัดให้มีการฝึกกำลังรบอยู่เป็นประจำ ป้องกันภัยทั้งในประเทศและนอกประเทศ รักษาความมั่นคงตามแนวชายแดน ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้มีความสงบไม่เกิดปัญหาซึ่งกันและกัน จัดกำลังป้องกันการรุกล้ำอธิปไตย อบรมราษฎรในพื้นที่เพื่อสามารถป้องกันตนเองได้

ส่งเสริมการปกครอง
กองทัพไทยมีความสำคัญในการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนชาวไทยรักชาติ รักษาความมั่นคงความสงบสุขของสังคม โดยช่วยกันสอดส่องดูแล ให้ความรู้เรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตย ข่าวสารต่างๆแก่ประชาชน ทั้งนี้กองทัพไทยยังป้องกันตามชายแดนเพื่อแก้ปัญหาการลำเลียงยาเสพติดที่เป็นภัยต่อประเทศชาติอีกด้วย


ภาพ "ทหารรักษาพระองค์" จาก http://www.do.rtaf.mi.th/Library/Images/FullKG.jpg
การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่สูงสุดและสำคัญสำหรับประชาชนทั้งนี้ยังเป็นสถาบันที่สำคัญยิ่งแก่เหล่าทหารเพราะพระมหากษัตริย์ทรงเป็นมิ่งขวัญแก่เหล่าทหารเทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯ กองทัพไทยจึงมีส่วนสำคัญในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยในโอกาสวันเฉลิมฉลองพระชนมพรรษาของทุกปี กองบัญชาการทหารสูดสุดได้จัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตน ณ สวนสนามทหารรักษาพระองค์

การรักษาผลประโยชน์ของคนในชาติ
กองทัพไทยมีบทบาทสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ทั้งทางบกและทางทะเล ป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องการประมง พื้นที่ทำมาหากิน บรรเทาสาธารณภัยเมื่อเกิดภัยพิบัติต่างๆ ช่วยเหลือผู้ประสบภัย แก้ปัญหาภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น เช่นการเกิดภัยแล้งก็ปฏิบัติการฝนหลวงตามโครงการพระราชดำริ

ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
สอดส่องดูแล รักษา ปกป้อง ทรัพยากรทางธรรมชาติไม่ให้ถูกทำลาย พร้อมทั้งส่งเสริมจัดกิจกรรมต่างขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนมีสำนึกที่ดี ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไว้ ทั้งนี้กองทัพยังมีหน้าที่ในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญโดยพัฒนาทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกด้วย
กองทัพไทยในปัจจุบัน 
กองทัพไทยได้กำหนดนโยบายเพื่อความมั่นคงแห่งชาติไว้ ดังนี้ (จาก http://www.schq.mi.th/military_history.pdf สืบค้น 17 ม.ค. 2551 )
๑. เพื่อป้องปราม ป้องกันและต่อสู้เอาชนะภัยคุกคามจากภายนอกประเทศ
๒. เพื่อรักษาความมั่นคงภายในประเทศและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประชุม
๓. เพื่อป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบภายในประเทศ
๔. เพื่อสนับสนุนและร่วมในการพัฒนาประเทศ การช่วยเหลือประชาชน และการบรรเทาสาธารณภัย
๕. เพื่อคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของชาติ
๖. เพื่อร่วมมือกับมิตรประเทศตามนโยบายของรัฐบาลในการรักษาสันติภาพและการป้องกันร่วมกัน
กิจกรรมในวันกองทัพไทย
ในวันนี้เหล่ากองทัพได้ทำกิจกรรมคือ พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพล หรือที่นิยมเรียกว่า "สวนสนามสาบานธง" ซึ่งเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับทหารทุกคน และเพื่อเป็นการระลึกถึงวีรกรรมและเป็นการสักการะดวงวิญญาณนักรบไทย จะมีพิธีวางพวงมาลาอนุสาวรีย์ทางทหาร เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อนุสาวรีย์ทหารอาสา อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ฯลฯ 

วันครูแห่งชาติ

วันครู
วันครู


          ในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันที่ 16 มกราคมของทุกๆ ปี เป็นวันครู และการจัดงานวันครู ได้มีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 และให้ดำเนินเรื่อยมาทุกปี นับตั้งแต่บัดนั้นมา โดยจัดให้มี วันครู ขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ 

ความหมายของครู 

          ครู หมายถึง ผู้อบรมสั่งสอน ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ 

ความสำคัญของครู 

          ในชีวิตของคนเราถือว่า บิดามารดา เป็นผู้มีพระคุณอันสูงสุด เพราะท่านเป็นผู้ให้ชีวิต ให้ความรัก ให้ความเมตตา มีความห่วงใย และเสียสละเพื่อลูก นอกจาก บิดามารดา แล้ว ก็มีครูเป็นผู้มีพระคุณคล้าย บิดามารดา คือ เป็นผู้อบรมสั่งสอนถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ รวมทั้งให้ความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ทุกคน นับได้ว่าครูเป็นผู้เสียสละที่ไม่แพ้บุพการี 

          ครูจึงนับเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมาก ในการให้การศึกษาเรียนรู้ ทั้งในด้านวิชาการ และประสบการณ์ ตลอดเป็นผู้มีความเสียสละ ดูแลเอาใจใส่ สั่งสอนอบรมให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันเป็นหนทางแห่งการประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเอง รวมทั้งนำพาสังคมประเทศชาติ ก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ฉะนั้นวันที่ 6 ตุลาคม จึงได้เป็นวันครูสากล เพื่อคนที่เป็นครูทั่วโลกที่เสียสละนำพาเราทุก ๆคน ไปถึงฝั่งฝันนั่นเอง 

ประวัติความเป็นมา

          วันครู ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ.2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภา เป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกัน ก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครู และครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้ และความสามัคคีของครู 

          ทุกปีคุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา เป็นผู้ตอบข้อสงสัย สถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา 

          พ.ศ.2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป.พิบูล สงคราม นายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า 

          "ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่า วันครู ควรมีสักวันหนนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อวันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง" 

          จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่นๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ให้มีวันครูเพี่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพจารย์ ส่งเสริมความสามัคคีธรรมระหว่างครูและพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน 

          คณะมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น วันครู โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2488 เป็น วันครู และให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าว 

          งานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2500 ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญ คือ หนังประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ 

วันครู 


บทสวดเคารพครู 

          (สวดนำ) ปาเจราจริยาโหนฺติ (รับพร้อมกัน) คุณุตฺตรานุสาสกา 

          ปญฺญาวุฑฺฒิกเร เต เต ทินฺโนวาเท นมามิหํ 

(สวดทำนองสรภัญญะ) 

          (สวดนำ) อนึ่งข้าคำนับน้อม (รับพร้อมกัน) ต่อพระครูผู้การุณย์ 

          โอบเอื้อและเจือจุน อนุศาสน์ทุกสิ่งสรรพ์ 

          ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน 

          ชี้แจงและแบ่งปัน ขยายอรรถให้ชัดเจน 

          จิตมากด้วยเมตตา และกรุณา บ เอียงเอน 

          เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์ ให้ฉลาดและแหลมคม 

          ขจัดเขลาบรรเทาโม หะจิตมืดที่งุนงม 

          กังขา ณ อารมณ์ ก็สว่างกระจ่างใจ 

          คุณส่วนนี้ควรนับ ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร 

          ควรนึกและตรึกใน จิตน้อมนิยมชม 

          (กราบ) 

การจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในวันครู 
  
          เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในบทบาท และหน้าที่ของครู ตลอดจนจรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีครู และบทบาทหน้าที่ของศิษย์ที่พึงปฏิบัติต่อครู คลอดจนการจัดกิจรรมได้เหมาะสม และมีประสิทธภาพ 

กิจกรรมวันครู 

          การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลาในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการจัดงานวันครูจะมีกิจกรรม 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

          1. กิจกรรมทางศาสนา

          2. พิธีรำลึกพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตนการกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์

          3. กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬา หรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น 

วันครู 
          
          ปัจจุบันการจัดงานวันครู ได้มีการกำหนดให้จัดพร้อมกันทั่วประเทศ สำหรับส่วนกลางจัดที่หอประชุมคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการจัดงานวันครู ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ประกอบด้วย บุคคลหลายอาชีพร่วมกันเป็นผู้จัด สำหรับส่วนภูมิภาคมอบให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการจัดงานวันครูขึ้นเช่นเดียวกับ ส่วนกลางจะจัดรวมกันที่จังหวัดหรือแต่ละอำเภอ 

          รูปแบบการจัดงานในส่วนกลาง (หอประชุมคุรุสภา) พิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการอำนวยคุรุสภา คณะกรรมการการจัดงานวันครู พร้อมด้วยครูอาจารย์และประชาชนร่วมกันใส่บาตรพระสงฆ์จำนวน 1,000 รูป 

          หลังจากนั้นทุกคนที่มาร่วมงานจะเข้าร่วมพิธีในหอประชุมคุรุสภา นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเป็นประธานในงาน ดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ นายกรัฐมนตรีบูชาพระรัตนตรัย ประธานสงฆ์ให้ศีล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวรายงานต่อนายกรัฐมนตรีกล่าวนำพิธีสวดคำฉันท์รำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ 

          จากนั้นประธานจัดงาน วันครู จะเชิญผู้ร่วมประชุมยืนสงบ 1 นาที เพื่อรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว ต่อด้วยครูอาวุโสในประจำการ ผู้นำร่วมประชุมกล่าวปฏิญาณ

 คำปฏิญาณตนของครู

          ข้อ 1 ข้าจะบำเพ็ญตน ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู

          ข้อ 2 ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ

          ข้อ 3 ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครู และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม 

          จากนั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคล แล้วต่อด้วยนายกรัฐมนตรี มอบรางวัลครูดีเด่นประจำปี มอบของที่ระลึกให้ครูอาวุโสนอก และในประจำการ สุดท้ายกล่าวปราศรัยกับคณะครูที่มาประชุม


มารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู           1. เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ

          2. ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น

          3. ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตน ให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตน ให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานไม่ได้

          4. รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู

          5. ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา

          6. ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษย์ชาติ

          7. ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการ โดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตน และไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงานของผู้อื่นไป เพื่อประโยชน์ส่วนตน

          8. ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรมไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ

          9. สุภาพเรียบร้อยประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ ของผู้ร่วมงานและของสถานศึกษา

          10. รักษาความสามัคคีระหว่างครูและช่วยเหลือกันในหน้าที่การงาน
 
รายชื่อประเทศที่มี วันครู

ประเทศที่มี วันครู ที่ไม่ใช่วันหยุด

          - อินเดีย วันครูตรงกับวันที่ 5 กันยายน
          - มาเลเซีย วันครูตรงกับวันที่ 16 พฤษภาคม
          - ตุรกี วันครูตรงกับวันที่ 24 พฤศจิกายน 

ประเทศที่มี วันครู เป็นวันหยุด

          - แอลเบเนีย วันครูตรงกับวันที่ 7 มีนาคม
          - จีน วันครูตรงกับวันที่ 10 กันยายน
          - สาธารณรัฐเช็ก วันครูตรงกับวันที่ 28 มีนาคม
          - อิหร่าน วันครูตรงกับวันที่ 2 พฤษภาคม
          - ละตินอเมริกา วันครูตรงกับวันที่ 11 กันยายน
          - โปแลนด์ วันครูตรงกับวันที่ 14 ตุลาคม
          - รัสเซีย วันครูตรงกับวันที่ 5 ตุลาคม
          - สิงคโปร์ วันครูตรงกับวันที่ 1 กันยายน
          - สโลวีเนีย วันครูตรงกับวันที่ 28 มีนาคม
          - เกาหลีใต้ วันครูตรงกับวันที่ 15 พฤษภาคม
          - ไต้หวัน วันครูตรงกับวันที่ 28 กันยายน
          - ไทย วันครูตรงกับวันที่ 16 มกราคม
          - สหรัฐอเมริกา วันอังคารในสัปดาห์แรกที่เต็ม 7 วันในเดือนพฤษภาคม
          - เวียดนาม วันครูตรงกับวันที่ 20 พฤศจิกายน 
ข้าจะบำเพ็ญตน ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู  ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ  ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครู และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

วันเด็กแห่งชาติ